แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ Fundamental แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ Fundamental แสดงบทความทั้งหมด

วันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

+++คำถามที่ คนไม่มีพื้นฐานเรื่องหุ้นอยากถาม แต่อาจจะไม่กล้าถาม เลยไม่ได้เล่นหุ้นสักที

คำชี้แจง : บทความนี้ถูกแบ่งปันข้อมูลจากเจ้าของกระทู้ใน Pantip เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลในการศึกษา และอ่านทบทวน



รวบรวมคำถาม ที่อาจจะฟังดูไร้สาระที่สุด ในมุมมองของคนที่เคยลงทุนในหุ้นมาแล้ว
แต่สำหรับคนที่ไม่เคยมีความรู้ หรือไม่เคยศึกษาเรื่องหุ้นเลย  มีแต่ ได้ยินคนโน้น คนนี้ พูดถึงการเล่นหุ้น
และ ก็รู้สึกสนใจ  แต่ลึกๆแล้ว รู้ว่า จับต้นชนปลายอะไรไม่ค่อยถูก  จะถามก็ไม่กล้า เพราะรู้สึกว่า ตัวเองไม่รู้พื้นฐานอะไรสักอย่างเกี่ยวกับหุ้นเลย   


ถามมากๆ เข้า ก็กลัวเพื่อนจะหาว่าโง่  ได้แต่เก็บคำถาม งงงวยนั้นไว้คนเดียว  และคิดว่า วันหนึ่งค่อยมาศึกษา 

และก็เป็นอย่างที่คิด ผ่านมา 3 ปี  ก็ยังไม่ได้ไปศึกษาสักที  พอได้ยินคนพูดมาที ก็ฮึดอยากศึกษาขึ้นมาที  พอเผลอ ก็เลิกศึกษาอีกละ  ผมเลยลองรวบรวมคำถามที่คิดว่า คนที่ได้ยินคำว่า เล่นหุ้น  ปุ๊ป   จะเกิดคำถามขึ้นในใจ  แต่อาจไม่กล้าถามใครออกไป    


จงแอบอ่าน แอบแชร์  แล้วเราจะหายโง่ไปด้วยกันครับ”


หุ้นคืออะไร ?
ง่ายๆ เลย  หุ้นคือ สิทธิการเป็นเจ้าของ  เพราะฉะนั้น ถ้าเราซื้อหุ้นของบริษัทไหนมา  นั่นคือเราได้เป็นเจ้าของบริษัทนั้นแล้ว  ตาม สัดส่วนที่เราซื้อหุ้นมา  ถ้าซื้อหุ้นมามาก  ก็ได้สิทธิในการเป็นเจ้าของมาก   ถ้าซื้อหุ้นมาน้อยก็ได้สิทธิการเป็นเจ้าของน้อย  


และ ถ้าบริษัทที่เราซื้อหุ้นมา  กิจการเจริญรุ่งเรือง เติบโต  เราก็รวยไปด้วย 
แต่ถ้ากิจการมันขาดทุน   เราก็เจ๊งไปกับมันด้วย

จะซื้อหุ้น ต้องใช้อะไรซื้อ ?
ต้องใช้เงินในการซื้อหุ้น 
ถ้าเราใช้เงินซื้อหุ้นบริษัทใดๆไปเยอะ  ก็เหมือนว่าเราไปร่วมลงทุนกับบริษัทนั้นๆเยอะ 
เวลาบริษัทมีกำไร เราก็จะได้ส่วนแบ่งเยอะ  แต่ถ้าเวลาบริษัทขาดทุน  เราก็จะเสียเงินเยอะเช่นกัน

คำว่า เล่นหุ้น คืออะไร?
คำว่า เล่นหุ้น จะหมายถึง การซื้อหุ้น และ  การขายหุ้น   แต่ด้วยการที่หุ้นมันมีหลายตัวให้เลือกซื้อ  มันจะมีการซื้อตัวโน้น ขายตัวนี้  



มันเลยให้ความรู้สึกเหมือนว่าเรากำลังเล่นกับมันอยู่   ตามจริงแล้ว ควรจะใช้คำว่า "การลงทุนในหุ้น"  จะดูถูกต้องกว่า เพราะการที่เราซื้อหุ้นมา  มันคือการซื้อสิทธิการเป็นเจ้าของของบริษัทภายใต้หุ้นตัวนั้นอยู่ เหมือนเราไปร่วมลงทุนกับบริษัทนั้น  ถ้าวันใด เราขายหุ้นนั้นทิ้ง ก็เหมือนเราเลิกลงทุนกับบริษัทนั้นแล้ว

ตลาดหุ้น คืออะไร ?

ตลาดหุ้น คือ ตลาดที่มีไว้เพื่อซื้อขายหุ้นของบริษัทต่างๆ   อยากซื้อหุ้นของบริษัทไหน ก็ต้องมาซื้อที่นี่ 
ซึ่งของประเทศไทย  เรามีชื่อเรียกแบบเป็นทางการว่า  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 
และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า "The Stock Exchange of Thailand  ย่อสั้นๆว่า SET 
เพราะฉะนั้น เวลาดูข่าว เห็นเค้าพูดถึง SET กัน   นั่นคือ พูดถึงตลาดหุ้นของประเทศไทยของเรานั่นเอง

มีตลาดหุ้นไว้ทำไม ?
เรามีตลาดหุ้น ไว้เพื่อระดมทุนให้กับบริษัทใดๆ  เช่น สมมุติเราเปิดร้านกาแฟอยู่ร้านหนึ่ง  วันดีคืนดี อยากจะขยายธุรกิจ

 
เปิดร้านกาแฟเพิ่มอีกสัก 10 ร้าน  แต่เรามีเงินไม่พอ  ครั้นจะไปกู้ธนาคาร  ธนาคารก็เคี่ยว ถามโน้นถามนี่เยอะ คิดดอกเบี้ยก็แพง  


และถ้าเราลงทุนขยายกิจการอยู่คนเดียว  ถ้ามันไปได้ด้วยดี ก็ดีไป รวยคนเดียว ชิวๆ
แต่ถ้ามันเกิดไม่เป็นแบบที่เราคิด เราก็เป็นหนี้หัวโต อ้วกแตกอยู่คนเดียว 

ด้วยเหตุนี้ จึงมีตลาดหุ้นขึ้นมา  เพื่อที่เราจะสามารถนำเอาร้านกาแฟของเราไปจดทะเบียนในตลาดหุ้น 
และขายหุ้นร้านกาแฟของเรา  ให้คนอื่นที่สนใจในแผนงานของเรา  มาร่วมเป็นเจ้าของกับเรา  
เราก็จะได้เงินจากคนที่มาขอร่วมเป็นเจ้าของ  นำเงินนั้นไปขยายกิจการได้
ตลอดจนช่วยลดความเสี่ยงของเราเอง  เพราะมีคนมาร่วมหัวจมท้ายด้วย

ตัวอักษรภาษาอังกฤษ สีเขียว สีแดง วิ่งๆบนหน้าจอ ทีวีด้านล่างคืออะไร  ?
ตัวอักษรพวกนี้ คือ ชื่อตัวย่อของหุ้น  เช่น หุ้นของ ธนาคารกรุงเทพ  จะมาเขียน เต็มๆ มันก็ยาว
เค้าเลยย่อเป็นชื่อหุ้นว่า  BBL  
จำไว้เลยว่า ภายใต้ตัวอังษรภาษาอังกฤษพวกนี้ มีเบื้องหลังเป็นบริษัท

ส่วนสี เขียวๆ แดงๆ นี่คือ สีที่ทำให้เราดูการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นได้ง่ายขึ้น 
สีเขียว คือ หุ้นตัวนั้น มีราคาแพงขึ้น เมื่อเทียบกับ ราคาเมื่อวาน หรือที่เรียกว่า หุ้นขึ้น 
(คนที่ซื้อหุ้นไว้จะดีใจ เหมือนซื้อของมา แล้วเอาไปขายต่อได้แพงขึ้น)
สีแดง คือ หุ้นตัวนั้น มีราคาถูกลง  เมื่อเทียบกับราคาเมื่อวาน  หรือที่เรียกว่า หุ้นลง
(คนที่ซื้อหุ้นไว้จะเสียใจ เหมือนซื้อของมา แล้วเอาไปขายต่อได้ถูกลง)
สีเหลือง คือ หุ้นตัวนั้น มีราคาเท่าเดิม เมื่อเทียบกับราคาเมื่อวาน

เวลาดูข่าว พูดถึง ดัชนีหุ้น 1600 จุด  บวกขึ้นมา 40 จุด หรือบางวันก็บอกว่า ลบไป 20 จุด มันคืออะไร ?
ด้วย การที่หุ้นในตลาดหุ้นมีเยอะมาก 500 กว่าตัว  เค้าก็เลย เอาราคาของแต่ละตัว มาคำนวนรวมกัน เป็นตัวเลขที่ไว้อ้างอิง เรียกว่า ดัชนี   

เช่นเวลาบอกว่า วันนี้ ดัชนี บวก  จะหมายความว่า  หุ้นส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นมีราคาสูงขึ้น เมื่อเทียบกับราคาเมื่อวาน

  
ถ้าบอกว่า บวก แล้วตามด้วยตัวเลขเยอะๆ แสดงว่า หุ้นส่วนใหญ่ราคาขึ้นเยอะเมื่อเทียบกับราคาเมื่อวาน
แต่ถ้าวันไหน ดัชนี ลบ  คือหุ้นส่วนใหญ่ในตลาดมีราคาที่ถูกลง เมื่อเทียบกับราคาเมื่อวาน
ถ้าบอกว่า ลบ ตามด้วยตัวเลยน้อยๆ ก็แสดงว่า หุ้นส่วนใหญ่ในตลาดราคาลดลงจากราคาเมื่อวาน แต่ลดลงไม่มากเท่าไหร่

***หมายเหตุ 

เวลาดัชนี เป็นบวก ก็ไม่ได้หมายความว่าหุ้นทุกตัว ราคาขึ้นหมดทุกตัวนะ 
มันบอกได้แค่ว่า หุ้นส่วนใหญ่ในตลาด มันราคาขึ้น   มันเลยคำนวนดัชนีออกมา แล้วได้เป็นเลขที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับดัชนีของเมื่อวาน
เวลาดัชนี เป็นลบก็เช่นกัน  ไม่ใช่ว่า ราคาหุ้นทุกตัวในตลาดลดลง แค่หุ้นส่วนใหญ่ในตลาดมันลง  มันเลยคำนวนออกมาได้เลขดัชนีที่ลดลง***

ทำไมต้องเล่นหุ้น ?
เล่นหุ้น คือการลงทุนหาดอกผลชนิดหนึ่ง  เหมือนเราต้องการดอกเบี้ยจากการนำเงินไปฝากธนาคาร
เพียงแต่ การฝากธนาคาร ได้ผลตอบแทนน้อย เพราะมันไม่ค่อยเสี่ยง  ถ้าธนาคารไม่เจ๊ง 
แต่การเล่นหุ้น  มันคือการไปร่วมลงทุนทำธุรกิจกับบริษัทที่เราไปซื้อหุ้น  ผลตอบแทนที่ได้ สามารถสูงกว่าฝากธนาคารหลายเท่า 
แต่ ถ้าบริษัทที่เราร่วมลงทุนมันเจ๊ง เราก็มีสิทธิที่จะเสียเงินลงทุนทั้งหมด  พูดง่ายๆ ก็คือ การเล่นหุ้น เป็นการลงทุน ที่สามารถให้ผลตอบแทนสูงมาก
แต่ก็มีความเสี่ยงมากเช่นกัน  คนจึงอยากเล่นหุ้น  เพราะคาดหวังว่าจะได้ผลตอบแทนสูงๆ และจะ "รวย"

โบรคเกอร์คืออะไร ?
เวลาเราจะซื้อหุ้นตัวใดก็ตาม  ไม่ใช่ว่า จะเอาเงิน เดินไปที่บริษัทนั้นๆ หรือเดินไปที่ตลาดหลักทรัพย์ แล้วซื้อมาเลย 
เราต้องมี  ตัวกลางในการซื้อขายหุ้น  นั่นคือบริษัทโบรคเกอร์  โบรคเกอร์คือตัวกลางในการซื้อขายหุ้นให้เรา 
และเค้าก็จะได้ ผลตอบแทนจากเรา คือค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย  รวมถึงบริษัทโบรคเกอร์จะทำหน้าที่ออกบทวิเคราะห์หุ้นตัวต่างๆ
เพื่อเป็นข้อมูลให้ลูกค้าประกอบการตัดสินใจอีกด้วย 

จะเล่นหุ้นด้วยตัวเอง ผ่านอินเตอร์เน็ต  ไม่มีโบรคเกอร์ ได้ไหม  ?
ตอบว่า ไม่ได้  ยังไงก็แล้วแต่ เราต้องเป็นสมาชิกโบรคเกอร์ ถึงจะสามารถซื้อขายหุ้นได้

อีกคำหนึ่งที่ต้องรู้ คือ เจ้าหน้าที่การตลาด หรือ เรียกสั้นๆ ว่า มาร์ คืออะไร ?
อย่าสับสนคำศัพท์   โบรคเกอร์  คือบริษัทตัวกลาง    ส่วนมาร์คือ คน   

มาร์ เป็นลูกจ้างในบริษัทโบรคเกอร์  ที่ทำหน้าที่ ติดต่อกับ นักลงทุน  ตั้งแต่การส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น  จนถึงสิทธิประโยชนต่างๆ จากหุ้นที่เราถืออยู่ 
ตลอดจนเป็นที่ปรึกษาให้นักลงทุนด้วย    ตรงจุดนี้แหละ ที่จะมีนักลงทุนบอกว่า  ต้องการเล่นหุ้นด้วยตนเอง และซื้อขายหุ้นเองผ่านอินเตอร์เน็ต 
ไม่ต้องมีมาร์ได้ไหม   ตามจริงแล้ว นักลงทุนทุกคนล้วนมีมาร์ดูแลทั้งสิ้น  เพียงแต่ถ้าเราเล่นเองผ่านอินเตอร์เน็ต มาร์เค้าก็อาจจะไม่ได้โทรมายุ่งวุ่นวายอะไร  แต่ยังไงก็แล้วแต่ จะมีมาร์ดูแลอยู่แล้ว

การซื้อหุ้นมีกี่วิธี ?
มี 2 วิธี  คือ โทรหามาร์ ให้มาช่วยซื้อให้ 
กับ กดซื้อเองผ่านอินเตอร์เน็ต

*ทั้งสองวิธีนี้ จะได้หุ้นมาครบถ้วนตามที่สั่งเหมือนกัน 
เพียงแต่ การโทรให้มาร์ช่วยซื้อให้ จะมีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้น ที่แพงกว่า การกดซื้อเองผ่านเน็ต
(เพราะมาร์จะต้องแบกรับความเสี่ยง ในกรณีที่คีย์คำสั่งผิด)*

จะเริ่มซื้อหุ้นต้องทำยังไง ?
ขั้นแรก ต้องเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นก่อน โดยต้องไปเปิดกับบริษัทโบรคเกอร์¨ ซึ่งในไทยมีบริษัทโบรคเกอร์มากมายหลายเจ้า 
ส่วนใหญ่แล้ว บริการพื้นฐาน และค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหุ้น จะเหมือนๆกัน 

ซึ่งบัญชีสำหรับการซื้อขายหุ้น จะมีอยู่หลักๆ 3 ประเภท  แต่เอาบัญชีที่ง่ายที่สุด  สำหรับมือใหม่ 
เดินเข้าไปในโบรคเกอร์แล้วบอกเลย  ว่า ขอเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นแบบ Cash balance  
ใช้เอกสารประกอบการเปิดบัญชีแค่ สำเนาบัตรประชาชน  และสำเนาหน้าแรกของสมุดบัญชี (book bank) เท่านั้น

บัญชีนี้ จะมีลักษณะคล้ายๆ บัญชีออมทรัพย์เลย   คือพอเปิดเสร็จ จะได้เป็นบัญชีเปล่าๆ ที่สามารถใช้ในการซื้อขายหุ้นมา 
และจะมาพร้อมกับ User name และ Password  เพื่อใช้ในการ log in เข้าหน้าเว็ปไซด์ ของโบรคเกอร์ที่เราเปิดบัญชี  
เพื่อเข้าไป  อ่านข่าว ดูกราฟราคา อ่านบทวิเคราะห์ต่างๆ รวมถึง ส่งคำสั่ง ซื้อขายหุ้น  
ซึ่งถ้าจะเริ่มซื้อหุ้นตอนไหน  เราต้องโอนเงินเข้าไปในบัญชีซื้อขายหุ้นของเราก่อน โอนมาเท่าไหร่ จะซื้อขายหุ้นได้ตามจำนวนนั้น 
ถ้าไม่โอนมา มันก็จะเป็นแค่บัญชีเปล่าๆ ที่ไว้ดูข้อมูลหุ้น  แต่ไม่มีตังซื้อหุ้น

พอเรามีการขายหุ้น ได้กำไร หรือขาดทุน  เงินคงเหลือจะค้างอยู่ใน บัญชีหุ้นของเรา 
ถ้าอยากจะนำเงินออกมา ก็สามารถกดถอนตังได้ทางหน้าเว็ปไซด์ของโบรคเกอร์ 
และเงินก็จะวิ่งเข้า สมุดบัญชี ที่ให้ไว้ตอนเปิดบัญชีนั่นเอง

โปรแกรมซื้อขายหุ้น ดูยังไง ?
โปรแกรมซื้อขายหุ้นที่ นิยมใช้กันคือ Streaming สามารถ ใช้ได้ทั้งในมือถือ และ คอมพิวเตอร์
โปรแกรมนี้แหละ ที่จะใช้ในการซื้อขายหุ้น  ตลอดจนดูราคาหุ้นทุกตัวในตลาดหุ้น 
รวมถึงการดู ยอดเงินคงเหลือในบัญชีหุ้นของเรา และดูว่ามีหุ้นอะไรอยู่ในพอตเราบ้าง ตอนนี้กำไร และขาดทุนเท่าไหร่

แล้วซื้อหุ้นยังไง ?
อย่างที่บอกไป  วิธีแรก คือการโทรหามาร์  บอกเลขบัญชี และชื่อของตัวเอง
จากนั้น บอกชื่อหุ้น  ราคาหุ้นที่จะซื้อ  จำนวนไป  ก็จะสามารถซื้อหุ้นได้
แต่ถ้าต้องการซื้อหุ้นด้วยตนเองผ่านอินเตอร์เน็ต ก็ต้องเข้าโปรแกรม Streaming
มัน จะมีหน้าจอสำหรับซื้อขายหุ้น  ถ้าเราต้องการซื้อหุ้นตัวใด  เราต้องรู้ชื่อหุ้นนั้นๆ  และ จะมันจะมีราคาตลาดบอกไว้ ว่าราคา ตัวละกี่บาท
 
โดยหุ้น เป็นอะไรที่มีสภาพคล่องสูง  จะมีคนเสนอซื้อ และขายอยู่ตลอดเวลา  เราสามารถซื้อได้เลย ตามราคาที่คนเสนอขาย 
หรือถ้าเรามีหุ้นอยู่แล้ว  เราก็สามารถขายได้เลย  ตามราคาที่มีคนเสนอซื้อ

ต้องมีเงินเริ่มต้นกี่บาทในการ เปิดพอต  ในการเล่นหุ้น มีขั้นต่ำไหม ?
ไม่มีขั้นต่ำ  มีกี่บาทก็เล่นได้  เพราะหุ้นมีราคาตั้งแต่ หลักสตางค์ ไปจนถึงหลัก พัน
มีเงินน้อย ก็ซื้อได้น้อยตัว  เวลาได้กำไรก็ได้น้อย เวลาขาดทุน ก็ขาดทุนน้อยแค่นั้นเอง

เล่นหุ้น จะได้เงินเมื่อไหร่ ?

การที่เราเข้าซื้อหุ้นมาแล้ว เราจะเหมือนว่าเราได้ ลงทุนในบริษัทนั้นแล้ว  เราจะได้กำไร ก็ต่อเมื่อ
1.  เราขายหุ้นนั้นไป ในราคาที่แพงกว่า ตอนเราซื้อมา  ถ้าขายได้ถูกกว่าที่เราซื้อมา เราก็จะขาดทุน
(ถ้า หุ้นที่เราซื้อมา มีราคาสูงขึ้นกว่า ต้นทุนที่เราซื้อ แต่เรายังไม่ขายหุ้น  มันก็จะเพียงแค่โชว์ว่าเรามีกำไรเท่าไหร่ให้เราเห็นเฉยๆ
จะได้กำไรจริงๆ ก็จะได้เมื่อขายหุ้นออกไปแล้วเท่านั้น)
2. ถ้าเรายังถือหุ้นตัวนั้นอยู่ และบริษัทมีกำไร  ปีนึง ก็จะมีการจ่ายปันผล  เราก็จะได้ส่วนแบ่งกำไรตรงนี้ ตามตามสัดส่วนหุ้นที่เราถืออยู่

เล่นหุ้น เสี่ยงมั๊ย ?
เล่นหุ้น คือการไปร่วมลงทุนในธุรกิจต่างๆ  ซึ่งถ้าเราไม่มีความรู้ในธุรกิจที่เราลงทุนแล้ว ก็จะเรียกว่า เสี่ยงมาก 
ไม่ต่างอะไรกับการแทง น้ำเต้าปูปลาเลย   แต่ความเสี่ยงสามารถควบคุมได้
ถ้าเราสามารถเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และวิเคราะห์หุ้นที่เราลงทุนได้

การเล่นหุ้น มีกี่แบบ  และวิเคราะห์หุ้นยังไง ?
การเล่นหุ้นเนี่ย มันแบ่งง่ายๆ เป็น 2 แบบด้วยกัน
1. การเล่นหุ้นแบบ.....ลงทุน
2. การเล่นหุ้นแบบ.....เก็งกำไร
คนเรา พอพูดถึง เรื่องเล่นหุ้น  จะคิดภาพไปเลยว่า ยิ้มต้องอยู่หน้าจอทั้งวัน ดูกราฟ ตัวเลขวิ่งๆ
ซื้อๆ ขายๆ หุ้นอย่างรวดเร็ว   ซึ่งตามจริง ภาพแบบนั้น มันแค่เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น 
มันเป็นส่วนหนึ่งของการเล่นหุ้นแบบเก็งกำไร (แบบที่ 2) ที่เค้าจะอาศัยการขึ้นลง ของราคาหุ้น
สร้างผลกำไร  บางคนก็เก็งกำไรกันระยะสั้น เป็นรายนาที    บ้างก็รายวัน (ซื้อๆ ขายๆ ภายในวัน)
บางคนก็อาจจะ ยาวเป็นเดือนก็มีเหมือนกัน  

ยิ่งเล่นสั้นมากๆ ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมาก
โดยส่วนตัวผมว่า การเล่นหุ้นสายนี้ ค่อนข้างยาก
เพราะสิ่งที่ขับเคลื่อนราคาของหุ้นในระยะสั้น เป็นเรื่องของข่าวสาร อารมณ์ของตลาด 
และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย ที่คาดเดาได้ยากมากๆ แต่มือใหม่ที่เข้ามาเล่น กลับคิดว่า วิธีนี้ยิ้มง่าย และรวยเร็ว
ส่งผลให้ขาดทุนในที่สุด 

แต่มันก็มีนะ คนที่เค้าประสบความสำเร็วจากการเล่นหุ้นแบบเก็งกำไร
เค้าต้องเป็นคนที่ มีวินัย  ต้องรู้จักการควบคุมความเสี่ยง จะเดิมพันก็ต่อเมื่อเค้ารู้สึกว่าเค้าได้เปรียบ 
และในบางจังหวะ ที่เค้าคาดการณ์ผิดพลาด  เค้าจะมีวินัยในการยอมขาดทุน แล้วหนีออกมา
ซึ่งถ้าใครชอบ แนวนี้  ต้องหัดวิเคราะห์ ศึกษา ที่ในวงการเค้าจะเรียกว่า  "ปัจจัยทางเทคนิค" 
จะเป็นพวกการศึกการเคลื่อนไหวของ กราฟราคาหุ้น  ความสัมพันธ์ของปริมาณการซื้อขายต่างๆ
ลองไปหาหนังสืออ่านดู..........

กราฟๆ ที่เห็นคนเค้าดูกัน คืออะไร แล้วจะดูได้จากที่ไหน ?
มันคือการวิเคราะห์หุ้นแบบหนึ่ง ตามที่บอกไป เรียกว่า การวิเคราะห์หุ้นแบบใช้ปัจจัยทางเทคนิค
ซึ่งเดี๋ยวนี้ลอง google หา  ก็จะมีโปรแกรมกราฟให้ใช้มากมาย  แต่ถ้าชัวร์ๆ ก็เวลาเปิดพอตหุ้นกับโบรคเกอร์
เค้าจะมีบริการโปรแกรมกราฟให้เราใช้อยู่แล้ว

ส่วนการเล่นหุ้นอีกวิธี   เรียกว่า การเล่นหุ้นแบบลงทุน  วิธีนี้ จะเหมือนกับเราเอาเงินไปร่วมลงทุนกับเค้าเลย
แบบร่วมหัวจมท้ายด้วยกัน ระยะเวลาปานกลาง ถึง ยาวๆ เลย
ถ้าบริษัทมันมีกำไร  เราก็ได้ผลประโยชน์ไปด้วย  ถ้าบริษัทขาดทุน  เราก็เจ๊งไปกับเค้าด้วย
เพราะฉะนั้น  สิ่งที่ขับเคลื่อนราคาหุ้นในวิธีนี้ คือ ผลกำไรของบริษัทที่เราร่วมลงทุน 
ส่งผลให้  การเล่นหุ้นในวิธีนี้ มันจะต้องใช้เวลา  เพราะผลกำไรของบริษัทมันไม่สามารถแสดงออกมาได้
ภายใน หนึ่งวัน หรือ สองวัน ส่วนใหญ่จะใช้เวลากันเป็นปี  ภาพการเล่นหุ้นด้วยวิธีนี้ ก็จะเปลี่ยนไป
เราไม่จำเป็นต้องนั่งเฝ้าหน้าจอ ดูราคาหุ้นที่เปลี่ยนแปลงทุกวันอีกต่อไป  ภาพมันจะกลายเป็น
การนั่งวิเคราะห์ธุรกิจ การอ่านงบการเงิน   การวิเคราะห์การเติบโตของบริษัท  
รวมไปถึงการลองไปใช้บริการของบริษัทที่เราลงทุน อะไรทำนองนี้   ซึ่งแนวทางนี้
สามารถศึกษาได้จาก "การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน"
มีหนังสือให้อ่านเช่นกัน.............

มันตอบไม่ได้นะ ว่า วิธีไหนดีกว่ากัน  ไม่ว่าทางไหน มันสามารถประสบความสำเร็จได้เสมอ
และมันก็สามารถหมดตัวได้เหมือนกัน   มันอยู่ที่คุณ จะศึกษา และทุ่มเท กับมันเพียงใด
"ไม่มีรวยเร็ว และอะไรที่ได้มาง่ายๆ ในถนนสายนี้"

นึกคำถามไม่ออกแล้ว  ยังไงมีคำถามก็พิมพ์ทิ้งไว้กันได้เลยครับ
อันไหนตอบได้ ก็จะมาตอบให้ครับ

จบแล้ว

ออกตัวก่อนว่า ผมทำงานในบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง  ผมมีรายได้จากการที่ลูกค้า ซื้อขายหุ้นนี่แหละ
แต่ที่ผมมาเขียนนี่ ก็ไม่ได้จะมาหวังผลประโยชน์อะไร  เพราะมือใหม่ๆ เนี่ย 
เทรดหมื่นนึง ผมจะได้ ค่าคอมมิชชั่นประมาณ 2 บาทถ้วนเห็นจะได้   ฮ่าๆๆ ยังไม่คุ้มค่าไฟเลย 
แต่ที่มาเขียนก็อยากให้คนที่สนใจ กับคำว่าเล่นหุ้นอยู่  ได้พอมีอะไรพื้นฐานติดไปบ้าง ก่อนจะไปหาหนังสืออะไรอ่าน ต่อยอดต่อไป 

ส่วนใครที่ยังไม่เคยศึกษาด้านการลงทุนในหุ้นเลย  แล้วอยู่ดีดี จะมาซื้อหุ้นเลย 
ผมก็ขอบอกให้คุณกลับไปศึกษาก่อน หาหนังสืออ่าน 
เพราะการเข้ามาเล่นหุ้นแบบไม่รู้อะไร  มักจะกลับออกไปแบบไม่เหลืออะไร

ส่วนใครจะมาขอหุ้นเด็ด หุ้นดี  ผมก็ไม่มีเหมือนกัน
คิดหลักง่ายๆ ถ้าผมมีหุ้นเด็ด  ผมก็เล่นเองอยู่บ้าน ไม่ต้องออกไปทำงานแล้ว   
ที่มีให้ได้ก็น่าจะเป็น แนวคิดการมองตลาดหุ้นไม่ให้เหมือนการพนัน 
คอยเตือนให้มีสติ  ส่วนการตัดสินใจทุกอย่าง ก็เป็นของ ทุกคนเองเท่านั้น เพราะเงินใครก็เงินมัน

ผมไม่ได้คาดหวังว่า จะมีคนมา เทรด ซื้อขายหุ้นเยอะๆ แล้วธุรกิจที่ผมอยู่จะรุ่งเรือง
ผมเห็นมาแล้ว พวกมาเทรดเยอะๆ แต่เทรดแบบการพนัน สุดท้ายก็เลิกเล่นไป
ผมอยากให้เมื่อใหม่ทุกคนมีมุมมองที่ดีต่อตลาดหุ้น  เล่นหุ้น แบบลงทุนจริงๆ
และอยู่รอดในถนนสายนี้กับมันไปนานๆ 
เพราะถ้าคุณอยู่รอดกับมันได้นานเท่าไหร่  คุณก็จะรวยเท่านั้น 


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล http://pantip.com/topic/33154825

+++ความจริงของ QE ที่โลกควรรับรู้ ...เผยเบื้องหลังเกมการเงินระดับโลกที่น่าเรียนรู้

คำชี้แจง : บทความนี้ถูกแบ่งปันข้อมูลจากเจ้าของกระทู้ใน Pantip เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลในการศึกษา และอ่านทบทวน





ความจริงของ Q.E. (ที่ต้องรู้)


ตลอดเวลากว่า 13 ปีที่ผมได้เรียนและทำงานในการเงินมา ผมได้พบเห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่แปลกประหลาดในตลาดทุน แต่ในจำนวนนั้นสิ่งที่เหลือเชื่อที่สุดคือสิ่งที่เราทุกคนรู้จักกันในชื่อ มาตรการ Q.E. ซึ่งย่อมาจาก Quantitative Easing ที่สหรัฐฯ เริ่มใช้เมื่อปี 2009 ก่อนจะตามมาด้วยญี่ปุ่นและคาดว่าจะเป็นยุโรปในปีหน้า

ทุกครั้งที่มีการประกาศใช้นโยบาย Q.E. ตลาดหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกก็จะตอบรับในทางบวก ดูได้จากตลาดหุ้นทั่วโลกที่วิ่งขึ้นอย่างบ้าคลั่งตั้งแต่เริ่มมี Q.E. เมื่อปี 2009 นักวิเคราะห์และนักลงทุนส่วนใหญ่ล้วนชอบใจใน Q.E. บางส่วนก็ขอร้องให้สหรัฐฯ และประเทศต่างๆดำเนินนโยบายนี้ไปถึง Q.E. 99 เลยก็ได้

แต่ความจริงมันเป็นเช่นนั้นหรือ? แท้จริงแล้ว Q.E. คืออะไรกันแน่?

ก่อนอื่นต้องขออธิบายความหมายของ Q.E. ให้เข้าใจตรงกันเสียก่อน ในเดือนมีนาคม 2009 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (หรือเรียกสั้นๆว่า FED) ต้องการผลักดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้พ้นจากการถดถอยหลังเกิดวิกฤติการเงินในปี 2008 ซึ่งรู้จักกันในชื่อ Hamburger Crisis จึงดำเนินการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้ที่ค้ำประกันด้วยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่สถาบันการเงินต่างๆถือครองอยู่

เมื่อ FED เอาเงินดอลลาร์มาแลกกับกระดาษที่สัญญาจะจ่ายดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นในอนาคต นั่นหมายถึง FED กำลังพิมพ์เงินดอลลาร์สหรัฐฯ (USD) ออกมาสู่ตลาดการเงิน และส่งผลให้ราคาตราสารหนี้ทั้งระบบปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งก็ส่งผลให้ผู้ถือตราสารหนี้ทุกคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงินรวยขึ้นในภาพรวม เมื่อสถาบันการเงินมีความมั่นคงมากขึ้นจากสินทรัพย์ที่มีราคาสูงขึ้นก็จะเริ่มกล้าที่จะปล่อยสินเชื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนในไปสู่มือคนที่ต้องการใช้เงินได้

ในอีกด้านหนึ่ง FED ก็ทำการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายควบคู่กันไปด้วย เพื่อกดดันให้สถาบันการเงินที่ถือครองตราสารหนี้และผู้ฝากเงินที่รับดอกเบี้ยอยู่นำเงินเหล่าออกมาใช้จ่ายหรือลงทุนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและผลักดันให้เศรษฐกิจสหรัฐพื้นตัวได้ FED ดำเนินนโยบายนี้ 3 ครั้ง Q.E.1 (2009) Q.E.2 (2010) และ Q.E.3(2012) รวมแล้ว FED ซื้อตราสารหนี้ (หรือพิมพ์เงินดอลลาร์) ไปทั้งสิ้น 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงเวลา 6 ปี ผลจากดำเนินนโยบายนี้อย่างต่อเนื่องทำให้เศรษฐกิจสหรัฐก็ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งมาโดยตลอดและเป็นแบบอย่างให้ประเทศอื่นๆที่ประสบปัญหาเหมือนๆกันอย่างญี่ปุ่นและยุโรปทำตามในช่วงต่อมา

วิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยวิธีนี้ฟังดูง่ายแค่พิมพ์เงินออกมาเยอะๆเศรษฐกิจก็ฟื้นแล้ว เช่นนั้นแล้วทำไมประเทศต่างๆที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจถึงไม่ทำกันล่ะ ทำไมไทยถึงไม่ทำ Q.E. บ้างเพื่อผลักดันตัวเองออกจากวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997 ทำไมอาร์เจนติน่าถึงไม่ทำบ้างเพื่อเอาตัวรอดจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1999 ทำไมรัสเซียถึงไม่ทำเมื่อเกิดวิกฤตการเงินในปี 1998 คำตอบนั้นง่ายแต่ฟังดูเหลือเชื่อมาก นั่นคือ “ทำไม่ได้”

ลองนึกย้อนไปสมัยที่เรามีวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997 ประเทศไทยอยู่ในสภาวะใกล้เคียงกับสหรัฐฯ สมัยวิกฤต Hamburger ประเทศไทยขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง ภาคเอกชนมีภาระหนี้สินที่สูง มีการลงทุนและการใช้จ่ายเกินตัว ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อถือในความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศ จึงแห่ถอนเงินกู้ที่ปล่อยให้กับประเทศไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินสกุลเงิน USD ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พยายามเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทจนกระทั่งต้องยอมแพ้ลอยตัวค่าเงินในที่สุด ค่าเงินบาทปรับตัวขึ้นจากระดับที่ตรึงไว้ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์เป็น 50 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงข้ามคืน บริษัทเอกชนและสถาบันการเงินย่อมไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ในสกุลเงิน USD ที่มีมูลค่าสูงขึ้นเป็นเท่าตัวได้ตามสัญญาและประเทศไทยก็เข้าสู่สภาวะล้มละลายในที่สุด

ครั้งนั้นรัฐบาลไทยต้องบากหน้าไปขอกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งมีสปอนเซอร์ใหญ่คือสหรัฐฯนี่แหละ สิ่งที่ IMF บังคับให้เราทำเพื่อแลกกับเงินกู้ คือ รัดเข็มขัด ปิดสถาบันการเงินที่อ่อนแอ ขายสินทรัพย์ที่ราคาต่ำเพื่อชำระหนี้ต่างประเทศให้ครบ ผลก็คือเจ้าหนี้ต่างประเทศสบายแฮเพราะได้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนเป็นส่วนใหญ่ แต่เจ้าหนี้ไทยต้องตัดหนี้สูญลูกหนี้ในประเทศ สถาบันการเงิน 56 แห่งต้องปิดกิจการ ธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ล้มหายตายจาก นักธุรกิจบางคนทำใจไม่ได้ ฆ่าตัวตายไปในระหว่างนั้นก็เยอะ สรุปฝรั่งไม่เจ็บเท่าไรแต่คนไทยลำบากหนัก

ลองนึกกลับกันว่าถ้าวันนั้น ธปท. เลือกจะพิมพ์เงินเหมือนที่ FED ทำบ้างเราจะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจในขณะนั้นได้หรือไม่ คำตอบคือ “ไม่ได้” เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยพิมพ์ได้แต่เงินสกุลบาทเท่านั้น ยิ่งพิมพ์มากค่าเงินบาทก็ยิ่งอ่อน มูลหนี้ซึ่งอยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นอยู่ดี และอาจจะทำให้เกิดเงินเฟ้อภายในประเทศซ้ำเติมภาคธุรกิจและการบริโภคที่ย่ำแย่อยู่แล้วเข้าไปอีก ธปท. คิดดีแล้วก็บอกรัฐบาลว่าไปขอกู้ IMF เถอะ ประเทศอื่นๆที่ปัญหาอย่างรัสเซีย เม็กซิโก หรืออาร์เจนตินาก็เป็นแบบเดียวกันหมด

แล้วทำไมสหรัฐฯสามารถทำได้ นั่นก็เพราะเงินสกุลดอลลาร์เป็นสกุลเงินที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางในการซื้อขายระหว่างประเทศ รวมถึงถูกนำไปใช้เป็นเงินทุนสำรองของประเทศต่างๆทั่วโลก แม้ FED จะพิมพ์ออกมามากเท่าไรก็ไม่ได้ทำให้ความน่าเชื่อถือของสกุลเงินดอลลาร์ลดลงเลยแม้แต่น้อย เพราะทุกประเทศยังคงต้องใช้เงินสกุล USD สำหรับการค้าขายและใช้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ดี สังเกตได้จากเมื่อเดือนมีนาคม 2552 ก่อนที่ FED จะดำเนินนโยบาย Q.E.1 ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (THB/USD) อยู่ที่ประมาณ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากจบ Q.E.3 THB/USD ก็ยังอยู่ที่ประมาณ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ USD อ่อนลงไปแค่ประมาณ 6% เท่านั้นเอง ทั้งๆที่ FED พิมพ์เงินออกมาเพิ่มขึ้นจาก 8 แสนล้าน USD มาเป็น 4.5 ล้านล้าน USD หรือเพิ่มขึ้น 462% หลังจากจบ Q.E.3 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557

เท่ากับว่าตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ดำเนินนโยบาย Q.E. คนอเมริกันรวยขึ้นเมื่อเทียบกับไทย 434% จากการพิมพ์เงินอย่างเดียว ทั้งๆที่ตัวเองก็ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายขาดดุลการค้ามาตลอด มีสถานะเป็นลูกหนี้รายใหญ่ของประเทศต่างๆทั่วโลก แถมยังสามารถจ่ายดอกเบี้ยน้อยลงไปเรื่อยๆอีกต่างหากเพราะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ออกประมูลใหม่ก็ต่ำลงไปเรื่อยๆ สรุปแล้วชาตินี้ประชาชนอเมริกันไม่ต้องทำมาค้าขายอะไรให้ได้กำไรก็ได้ แค่พิมพ์เงินไปเรื่อยๆ เป็นหนี้ใครก็พิมพ์เงินมาจ่ายคืนหนี้เก่าแล้วก็กู้ต่อ เพดานหนี้สาธารณะก็ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะไม่มีคนสนใจจะวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐ ใครคิดจะลดความน่าเชื่อถือรัฐบาลสหรัฐจากระดับสูงสุดก็มักมีอันต้องเกษียณอายุงานก่อนวัยอันควรอย่างที่เห็นๆกันมาแล้ว

สำหรับผมแล้วการทำ Q.E. เป็นการ “ปล้น” ความมั่งคั่งของประชาชนทั่วโลกไปแบบกลางวันแสกๆ ต่อหน้าต่อตา แถมยังบอกให้รู้ล่วงหน้าอีกต่างหาก สิ่งที่สหรัฐฯทำในช่วงที่ผ่านมานี้ถือเป็นการฉีกตำราเศรษฐศาสตร์ทุกฉบับที่พวกเขาเขียนขึ้นมาให้เราเรียน และทำตรงกันข้ามกับสิ่งที่พวกเขาสอนให้เราทำในเวลาเราเกิดวิกฤต บางทีผมก็คิดลึกๆอยู่ในใจว่าตำราพวกนี้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อหลอกให้ประเทศกำลังพัฒนาเอาไปเรียนเพื่อประโยชน์ของประเทศมหาอำนาจหรือเปล่า

ความจริงข้อนี้เป็นเรื่องนี่น่าเจ็บปวดสำหรับประเทศอื่นๆในโลกที่ได้กำไรจากการค้าขายกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะยุโรป ญี่ปุ่น และจีน พวกเขาเข้าใจดีกว่าแม้ว่าเขาจะค้าขายได้กำไรจากสหรัฐฯ เท่าไรก็ตาม สุดท้ายกำไรที่ได้มาก็ต้องไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อเก็บเงินสกุล USD เป็นเงินทุนสำรองอยู่ดี และไม่ว่าดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะต่ำเตี้ยไปจนเหลือ 0% หรือกระทั่งติดลบ พวกเขาก็จำเป็นที่ต้องซื้อมันอยู่ร่ำไป เสมือนกับว่าพวกเขาเป็นประเทศราชที่ต้องส่งบรรณาการให้สหรัฐฯได้ไปบริโภคใช้จ่ายอย่างฟุ้งเฟ้อทุกๆปี

ในที่สุดแล้วประเทศต่างๆเหล่านี้ก็พยายามจะดำเนินนโยบายตอบโต้สหรัฐฯ เช่น ญี่ปุ่นเห็นสหรัฐฯ พิมพ์เงินได้ พวกเขาก็พิมพ์เงินบ้างแต่ที่ไม่เหมือนกันคือเมื่อพวกเขาพิมพ์เงินค่าเยนก็อ่อนฮวบจาก 80 เยนต่อ USD มาอยู่ที่ 120 เยนต่อ USD ในเดือนพฤศจิกายน 2557 อย่างไรก็ดีญี่ปุ่นมีข้อได้เปรียบที่ธุรกิจขนาดใหญ่ของพวกเขามีฐานการผลิตอยู่นอกประเทศ และเน้นการจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศ เช่น บริษัทรถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เมื่อค่าเงินเยนอ่อนก็ทำให้กำไรบริษัทจดทะเบียนเหล่านั้นเมื่อแปลงกลับเป็นสกุลเงินเยนสูงขึ้นและขายสินค้าง่ายขึ้นเพราะราคาสินค้าของผลิตญี่ปุ่นถูกลงเมื่อเทียบกับคู่แข่งทางการค้าอย่างเกาหลีใต้ได้ แปลง่ายๆว่าเยนยิ่งอ่อนบริษัทพวกเขายิ่งได้กำไร

นอกจากนี้การพิมพ์เงินเยนออกมายังจะช่วยทำให้ราคาสินค้า ราคาที่ดิน และราคาหุ้นของญี่ปุ่นที่ซบเซามาหลาย 10 ปีกระเตื้องขึ้น เป็นประโยชน์แก่เศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งที่เป็นชาติที่ไม่ค่อยยอมใช้เงินถึงแม้ดอกเบี้ยเงินฝากจะอยู่ 0% ก็ยังฝากกัน ถึงขนาดว่านายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะดำเนินนโยบายนี้จนได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษกู้เศรษฐกิจญี่ปุ่นในรอบ 30 ปี และมีแนวโน้มจะชนะการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2557 อย่างถล่มทลายครองความยิ่งใหญ่ในญี่ปุ่นไปได้อีกหลายปี คนญี่ปุ่นช่างสามารถหาวิธีตามน้ำ Q.E. ของสหรัฐได้อย่างสุดยอดสมกับเป็นพันธมิตรกับสหรัฐมากว่า 70 ปีนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

ฝั่งยุโรปเองเห็นความสำเร็จของสหรัฐ และญี่ปุ่นในด้านการพิมพ์เงินก็อยากทำบ้างเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคืองของกลุ่มประเทศตัวเอง แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่สามารถทำได้เพราะธนาคารกลางยุโรปประกอบไปด้วยตัวแทนจากหลายประเทศซึ่งมีความแตกต่างด้านเศรษฐกิจอย่างมาก การทำ Q.E. ของยุโรปอาจทำให้ค่าเงินสกุลยูโรอ่อนค่าลง และกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศขนาดใหญ่ที่มีวินัยทางการเงินดีเช่น เยอรมัน ซึ่งก็เป็นประเทศที่คัดค้านการทำ Q.E. มาตลอด แต่สุดท้ายแล้วธนาคารกลางยุโรปก็มีแนวโน้มที่จะทำ Q.E. ในปี 2558 เพียงต่อรอให้เงื่อนเวลา และข้อมูลต่างๆสนับสนุนการดำเนินนโยบายนี้มากขึ้นเท่านั้น

คนที่อยู่ในสถานะทีลำบากที่สุดคงจะหนีไม่พ้นจีน แม้ว่าจีนจะมีเงินทุนสำรองจำนวนมหาศาลและจริงๆแล้วจีนก็สามารถจะพิมพ์เงินออกมาได้โดยไม่กระทบกับความน่าเชื่อถือของค่าเงินหยวนมากนัก แต่การทำเช่นนั้นอาจทำให้สภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคธนาคารของจีนกลับมาเป็นปัญหาอีกครั้งหลังจากธนาคารกลางของจีนดำเนินนโยบายควบคุมฟองสบู่มานานหลายปี จีนจึงลังเลที่เดินตามประเทศมหาอำนาจทำ Q.E. อย่างเปิดเผย พวกเขาเลือกที่จะหาแนวร่วมในการต่อต้านการครองโลกทางเศรษฐกิจของสหรัฐด้วยการร่วมมือกับรัสเซีย และประเทศคู่ค้าของพวกเขาในการปฏิเสธการใช้เงินสกุล USD เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า และเรียกร้องให้ประเทศต่างๆในโลกสำรองเงินทุนในรูปสกุลเงินหรือสินทรัพย์อื่นๆ บ้างรวมถึง เงินสกุลหยวนและทองคำ เพื่อลดอิทธิพลของเงินสกุล USD ในตลาดการเงินโลก พร้อมกันนี้พวกเขาก็พยายามเปิดเสรีทางการเงินให้เงินสกุลหยวนมีอิสระมากขึ้นเพื่อให้เงินสกุลหยวนเป็นสกุลเงินที่ถูกใช้อ้างอิงกว้างขวางขึ้นในอนาคต ดังเห็นได้จากการเปิด Trade link ระหว่างตลาดหุ้นจีนที่เซี่ยงไฮ้และตลาดหุ้นจีนในฮ่องกงให้สามารถไปมาหาสู่กันได้มากขึ้น ในอนาคตจีนเองก็คงจะอยากเป็นอย่างสหรัฐที่สามารถกำหนดความเป็นไปของเศรษฐกิจโลกได้ด้วยตัวเองบ้าง เมื่อพวกเขาพร้อมและมีอำนาจทางทหารมากพอ

ก็คงจะเหลือแต่ประเทศเล็กๆอย่างเราๆนี่แหละที่ไม่สามารถจะทำอะไรได้ต้องปล่อยให้ทุกอย่างไปตามเกมของผู้มีอำนาจ เพราะถ้าหือขึ้นมาเดี๋ยวจะถูกประเทศมหาอำนาจกดดันทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านการทหาร เพราะอย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าใครมีกำลังทหารมากกว่าสามารถกำหนดความเป็นไปของประเทศที่มีอำนาจทางทหารด้อยกว่าทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ถ้าไม่เชื่อลองไปถามอิรักดูก็ได้ และถ้าสังเกตดูดีๆจะเห็นว่าสัญลักษณ์ของประเทศสหรัฐที่เป็นรูปนกอินทรี ในอุ้งเท้าทั้งสองของอินทรีด้านหนึ่งจะกำช่อมะกอกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งของคนสหรัฐ และอีกด้านนึ่งจะกำธนูซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจทางทหาร นั่นหมายความว่าคนสหรัฐเขาเข้าใจความสัมพันธ์เรื่องอำนาจทหารและอำนาจทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ ปี 1782 แล้ว และพวกเขาก็ถือครองความเข้มแข็งในสองด้านนั้นตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา

ในฐานะที่ผมเองก็เป็นนักลงทุนคนหนึ่งซึ่งก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าได้รับประโยชน์จากราคาสินทรัพย์ที่ปรับตัวสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นหุ้น หรืออสังหาริมทรัพย์พอสมควรในช่วงที่ผ่านมา และถ้ายุโรปหรือจีนทำ Q.E. เพิ่มขึ้นผมก็คงจะได้ประโยชน์อีกนั่นแหละ แต่ก็อยากจะเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อเตือนใจผู้อ่านว่าเราในฐานะประเทศเล็กในตะวันออกไกลกำลังอยู่ในจุดใดของเกมชิงอำนาจของประเทศมหาอำนาจต่างๆ และไม่ถูกล่อลวงไปด้วยมายาของเกมการเงินซึ่งประเทศผู้เขียนหนังสือเรียนทางเศรษฐศาสตร์ให้พวกเรานั่งท่องเอาตำราเรียนเหล่านั้นมาปั่นหั่วหลอกกินความมั่งคั่งเราได้ตลอดไป

งานเขียนฉบับนี้เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งอาศัยข้อสังเกตและประสบการณ์ส่วนตัวในตลาดทุนเท่านั้น ไม่มีงานวิจัยใดๆสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของผู้เขียน ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อนึ่ง ผู้เขียนแสดงทัศนะในบทความนี้ในเชิงส่วนตัวไม่ได้แสดงความเห็นแทนบริษัท คณะบุคคล มูลนิธิหรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น

Credit : Written by
Indy Investor Forum
14 ธันวาคม 2557

ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : http://pantip.com/topic/33002341

วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556

+++ Arbitrage คืออะไร มีการนำไปใช้ หรือมีกลยุทธ์แบบไหน ดีไม่ดียังไงบ้าง...

พอดีอยากรู้เรื่องนี้ Arbitrage เลยค้น ๆ อ่านแล้ว ชอบมาก การแลกเปลี่ยน พูดคุย ยกตัวอย่าง การนำไปใช้ ชัด ง่าย ไม่ซับซ็อน ขอคัดเป็นส่วนที่สำคัญ ๆ ออกมาเก็บไว้นะครับ ขอบคุณทุกแหล่งความรู้ และพี่ ๆ กูรูทุกท่านมาก ๆ ครับ 

ความคิดเห็นที่ 2   

arbitrage พูดง่ายๆก็คือ คุณยืมรถเพื่อนห่วยๆมาย้อมแมวขายในราคารถใหม่ แล้วคุณก็เอาเงินนั้นมาซื้อรถคันใหม่แล้วก็จ่ายเงินคืนเพื่อนในราคารถเก่า

พูดง่ายๆก็คือ เป็นการได้กำไรโดยปราศจากความเสี่ยงโดยการ หา securities ที่ mispriced

ส่วนการ hedge ก็ง่ายมาก ยกตัวอย่าง ถ้าบริษัทคุณต้องการน้ำมัน 100 ถังแต่กัวว่าในอนาคตราคามันจะขึ้นไปอีกสูงมากๆๆๆ คุณก็ซื้อ future ไว้เลย 100 ถัง เท่านี้คุณก็จะสบายใจเฉิบว่า อย่างน้อยคุณก็รู้ว่าราคาที่คุณจ่ายไปน่ะ จะไม่มีทางเปลี่ยน แต่ในทางกลับกัน หากราคามันถูกลง แทนที่จะแพงขึ้น คุณก้อเสียตังค์ฟรี 

จากคุณ : ! o_o !   - [ 25 ก.ย. 48 00:44:37 ]

ความคิดเห็นที่ 3   

ขอเสริมหน่อยนะครับเดี๋ยวจะเข้าใจผิด การarbitrage ไม่ใช่การย้อมแมวนะครับ แต่สินค้าที่จะเกิดการarbitrageนั้นจะต้องมีคุณสมบัติเหมือนกันครับ แต่เนื่องจากสถานที่ต่างกันทำให้ราคาต่างกันส่วนมากราคาที่ต่างกันก็คือค่าขนส่งครับ ฉะนั้นเมื่อมีช่วงที่สามารถหากำไรได้ก็จะมีการซื้อสินค้าในที่ที่ราคาถูกกว่าไปขายที่ที่ราคาแพงกว่า ทำให้สุดท้ายราคามาเท่ากันครับ 
สรุปแล้วการทำ arbitrage คือการหากำไรโดยปราศจากความเสี่ยงคร้าบ 

จากคุณ : นอนใจ (galadinner)  - [ 25 ก.ย. 48 01:32:56 ]

ความคิดเห็นที่ 5   

ยกตัวอย่างง่ายๆ

ถ้ามี การตั้งโต๊ะทำ Tender Offer 10 บาท ขณะที่ ราคา ตลาด 5 บาท คุณก็รีบซื้อที่ราคาต่ำกว่า 10 บาท คุณก็กำไรชัวร์ไงครับ ไม่ใช่ย้อมแมวนะครับ

หรือคุณเป็น พนักงาน กฟฝ ราคา IPO ประมาณ 29 บาท แต่ได้ราคาพาร์ 10 บาท แค่นี้คุณก็ทำ arbitage ได้แล้ว กำไรเห็นๆ
แก้ไขเมื่อ 25 ก.ย. 48 09:51:24 

จากคุณ : Siriwat_V   - [ 25 ก.ย. 48 09:30:17 ]

ความคิดเห็นที่ 7   

ครับไม่ใช่ย้อมแมวครับ แต่ที่สำคัญคือต้องมีอันไหนอันหนึ่งที่มัน mispriced พูดง่ายๆคือ คนขายมันโง่ หรือคนซื้อมันโง่ ถึงจะได้กำไร (ดังนั้น assumption ของ arbitrage condition ในการ pricing จึงมีไว้เพื่อสมมุติว่าทุกอย่างในโลกจะมีราคาที่ถูกต้องไม่เช่นนั้นจะมีคนมา arbitrage ให้ราคามันถูกผลักมาที่เดิม)

ยกตัวอย่างเลย สมมุติว่าคุณคิดว่า ในอนาคต ราคาน้ำมันควรจะลดลง ไม่ใช่เพิ่มขึ้น แล้วคุณเห็น future น้ำมันราคาสูงกว่าปัจจุบันอยู่ในตอนนี้ คุณก็ short future น้ำมันเลย ก็จะได้ราคาที่สูงสมมุติว่าเป็น สรุปว่าในวันนี้คุณจะได้เงิน สบายใจเฉิบ 

แล้วคุณก็ รอ รอ รอ รอ พอไปถึงวันที่ future จะถึงวัน maturity ถ้าคุณทายถูก ราคามันก็จะต่ำๆๆๆ ลงมา ในตอนนี้คุณต้อง close short position ของคุณ ฉะนั้น คุณต้องซื้อคืนมา แต่ถ้าคุณทายถูก ราคาน้ำมันในตอนนี้มันควรจะต่ำๆๆๆๆ สมมุติ ฉะนั้น คุณก็จะได้เงินสบายเฉิบไป 60 - 20 = 

ปล.  แต่อันนี้ที่จริงมีความเสี่ยง เราสมมุติว่า คุณรู้ 100% ว่าราคามันจะลงมาแน่ๆ ซึ่งไม่มีหรอก แม้กระทั่งในชีวิตจริง arbitrage ไม่ใช่อะไรที่จะทำได้ง่ายๆ เพราะความเสี่ยงในตลาดที่วัดเป็น variance อะไรแบบนี้ มันไม่เหมือนความเสี่ยงในชีวิตจริง ที่เสียแล้วเสียเลย ส่วน variance เป็นค่าความเสี่ยงที่ใช้ข้อมูลที่ผ่านมา ฉะนั้นตามหลักแล้ว ในอนาคตอาจจะเกิดอะไรขึ้นก็ได้ (random walk) วันๆคิดว่า us govt bond risk free วันต่อมาอาจเจอ katrina เข้าไปยี่สิบลูก default เลยใครจะไปรู้ 

จากคุณ : ! o_o !   - [ 25 ก.ย. 48 12:21:42 ]

ความคิดเห็นที่ 9   

ผมแปลภาษาชาวบ้าน และจะอธิบายอย่างง่ายๆ ไม่มีศัพท์ technic นะครับ เอาโดยหลักการ

ARBITRAGE

จับเสือมือเปล่า โดยไม่มีความเสี่ยง


เช่น

ไข่ราคา 3 บาท
มังคุดราคา 5 บาท
แต่มีคนรับซื้อไข่ โดยเค้าบอกว่า มังคุด 1 ลูก แลกไข่ได้ 2 ใบ
คุณก็ไปซื้อ มังคุด มา 5 บาท
แลกไข่มา 2 ใบ
ได้กำไรเห็นๆ 1 บาท
แนวๆนี้ครับ

Option / futures เหมือนกับ สัญญาแหละครับ
ใช้เพื่อ แลกเปลี่ยนความเสี่ยง ระหว่างกัน สำหรับคนที่มีมุมมองไม่เหมือนกัน หรือเหมือนกัน แต่ต่าง degree กัน
เช่น
คนนึงมองว่า บาทจะไป 45 /USD
อีกคนนึงมองว่า บาทจะไป 44/USD

หรือ คนนึมองว่า ยบาทจะแข็งไป 39
อีกคนบอกว่า บาทจะอ่อนไป 41

ทั้ง 2 กรณีนั้น ทำให้มี option / futures เกิดขึ้นมา

ตัวอย่างนะครับ

เช่น
คุณทำไข่เจียวขาย
ตอนนี้ไข่ ราคา 5 บาท
คุณคิดว่า ปีหน้า ไข่ราคา 10 บาท
คุณจึงกลัวว่า วัตถุดิบคุณจะแพง
แต่มีคนขายไข่อีกคน ที่คิดว่า มันไม่มีน่าแพง ขนาดนั้น
อย่างมากก็ 6บาท/ ฟอง

**กรณีที่ 1.
OPTION***
คน 2 คนคุยกัน และ คนขายไข่เจียวบอกว่า
เอางี้ละกัน ผมให้คุณ 100 บาท
แต่ผมขอสิทธ์ที่จะซื้อไข่จากคุณ ณ ราคา 6 บาท จำนวน 100ฟองละกัน คนขายไข่ Ok.. (คนซื้อ สามารถใช้สิทธิ์ หรือไม่ก็ได้)

ข้อดีสำหรับคนขายไข่เจียว: ถ้าราคาไข่แพงขึ้นมาก อย่างมาก ก็เท่ากับซื้อไข่ได้ในราคา 7 บาทต่อฟอง ในทางกลับกัน ถ้าราคาไข่ลงต่ำกว่า 6 บาท ก็ซื้อในราคาตลาด ยอมเสีย 100 บาทเป็นค่ากระจายความเสี่ยง..

ข้อดีสำหรับคนขายไข่: ไข่ไม่มีทางแพงขึ้นเกิน 6 บาทแน่ๆ หรือถ้าแพงเกิน 6 บาท ก้ยังมี 100 บาทที่ได้เป็นค่าทำสัญญามาเฉลี่ย


Futures/ forward
แบบเหตุการณ์ข้างบน
แต่ คนซื้อ/ขาย ไม่มีสิทธิ์เลือก
ต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้ ในอนาคต


ถ้ามีคำถาม PM/MSN มาได้ครับ 

จากคุณ : -tai-  - [ 25 ก.ย. 48 15:04:00 ]

ความคิดเห็นที่ 10   

แหม๋จะว่าเป็นการทำธุรกรรมที่ไม่มีความเสี่ยงผมก็ยังตะขิดตะขวงใจอยู่ครับ เพราะเรารู้ว่าทุกๆอย่างมีความเสี่ยง

แต่เอาเป็นว่าการทำarbitrageคือการทำธุรกรรมโดยเล็งเห็นผลในการทำกำไรได้ โดยทั่วไปจะเกิดจากmarket imperfectionที่มีผลให้ราคาที่ปรากฎอยู่ในตลาดต่างๆไม่สอดคล้องกัน เช่นถ้าส้มที่กรุงเทพฯขายกก.ละ10บาท  แต่ถ้าตลาดมีประสิทธิภาพ ราคาส้มที่เชียงใหม่บวกค่าใช้จ่ายต่างๆในการนำส้มลงมาขายที่กรุงเทพฯเช่นค่าขนส่ง จะต้องเท่ากับสิบบาทเช่นกัน

ในกรณีที่ราคาไม่เท่ากันarbitragerสามารถทำการซื้อขายโดยทำกำไรจากความต่างของราคานี้ได้ครับ เช่นถ้าราคาที่เชียงใหม่กก.ละ3บาท ค่าขนส่ง6บาท (รวม9บาท) arbitragerสามารถนำส้มจากเชียงใหม่ลงมาขายที่กรุงเทพฯโดยทำกำไรได้1บาทครับ แต่Speculatorก็ทำธุรกรรมเช่นนี้อยู่เสมอๆ

ดังนั้นเงื่อนไขที่สำคัญที่จะทำให้สามารถแยกarbitragerจากspeculatorได้ก็คือ cash flow(กระแสเงินสด)ของarbitrager ตลอดระยะเวลาการทำธุรกรรมนี้ต้องเท่ากับศูนย์หรือมากกว่าเสมอครับ ถ้าcash flowคุณติดลบ โดยทางทฤษฎีแล้วคุณจะกลายเป็นspeculatorครับ 

จากคุณ : fqmm1974  - [ 26 ก.ย. 48 00:37:53 ]

ความคิดเห็นที่ 11   

คำถามของคุณน่าจะเกี่ยวกับrisk managementครับ

ต้องเข้าใจก่อนว่าในตลาดมีplayerอยู่3ประเภทคือ
1.Hedger
2.Speculator
3.arbitrager 

Hedgerคือผู้ที่ไม่อยากได้รับความเสี่ยงของความผันผวนของราคา(ในอนาคต) เช่นชาวนานำข้าวมาขายล่วงหน้าในราคาที่มีอยู่ในตลาดครับ

Speculatorคือผู้ที่คิดว่าสามารถคาดเดาความเปลี่ยนแปลงของราคาในอนาคตได้เลยมาทำการซื้อขายในปัจจุบัน โดยหวังว่าจะสามารถทำกำไรจากส่วนต่างของราคาในอนาคตได้ครับ

ในตลาด2playersนี้จะทำให้เกิดliquidityในตลาดเพราะจะทำให้มีผู้ซื้อและผู้ขายอยู่ในตลาดครับ

ส่วนarbitragerก็อย่างที่บอกไว้ในกระทู้ด้านบนครับ มีหน้าที่ทำให้ตลาดอยู่ในจุดที่สมดุลย์(equilibrium)

ตอบคำถามครับ การป้องกันความเสี่ยงหรือ hedging คือการทำuncertaintyในอนาคตให้certainครับ คือถ้ามีข้าวที่จะเก็บเกี่ยวในอีก3เดือนข้างหน้า ชาวนาก็จะขายล่วงหน้าเลยในราคาที่อยู่ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าครับ

การถัวความเสี่ยง อันนี้ไม่แน่ใจคำถามครับ จะหมายความถึงการกระจายความเสี่ยงหรืออย่างไรครับ

ฟิวเจอร์ส (Futures) อันนี้เหมือน Forwardครับ แต่ฟิวเจอร์สจะอยู่ในแบบฟอร์มมาตราฐานครับ ต้องมีmaginที่ต้องmaintainกันด้วยครับ ส่วนForwardจะเป็นtailor madeหรือตกลงเงื่องไขกันเอง ย่อประมาณนี้ครับ รายละเอียดจำไม่ค่อยได้แล้วครับ

"สองตัวนี้ล่ะที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือหลักในการทำกิจกรรมทั้งสองอย่าง ยังไงมั่งครับ" ไม่เข้าใจคำถามครับ 

จากคุณ : fqmm1974  - [ 26 ก.ย. 48 00:56:24 ]

arbitrage ถือว่า ไม่มีความเสี่ยงครับ

อันนี้ ไม่ใช้ arbitrage ครับ:

ในกรณีที่ราคาไม่เท่ากันarbitragerสามารถทำการซื้อขายโดยทำกำไรจากความต่างของราคานี้ได้ครับ เช่นถ้าราคาที่เชียงใหม่กก.ละ3บาท ค่าขนส่ง6บาท (รวม9บาท) arbitragerสามารถนำส้มจากเชียงใหม่ลงมาขายที่กรุงเทพฯโดยทำกำไรได้1บาทครับ แต่Speculatorก็ทำธุรกรรมเช่นนี้อยู่เสมอๆ

เพราะมี time frame เข้ามาเกี่ยวข้อง (เวลาการขนส่ง, ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น, etc) arbritrage ต้องไม่มีส่วนต่างของเวลา เพราะ ตราบใดที่มีเงื่อนไขเวลา มันเหมือนการค้าขายทั่วๆไปครับ 

จากคุณ : -tai-  - [ 26 ก.ย. 48 01:49:53 ]

ความคิดเห็นที่ 14   

option ก็คล้ายๆกับ forward แต่ต่างกันตรงที่สัญญาไม่ผูกพันให้ผู้ซื้อสิทธิ์ที่จะซื้อ/ขาย ต้องทำตามสัญญา โดยผู้ซื้อสิทธิ์สามารถที่จะทำตามสัญญารึไม่ก็ได้ ถ้าเค้าจะได้ประโยชน์จากสิทธิ์นั้น ก็จะexercise ถ้าไม่ได้ประโยชน์ก็ไม่ exercise 

จากคุณ : is that so?  - [ 26 ก.ย. 48 22:14:49 ]



กรณีศึกษาอีกอัน  http://www.stock2morrow.com/showthread.php?t=21213

การทำกำไรโดยการใช้ กลยุทธ์ Arbitrage (สำหรับคนที่ยังไม่รู้นะครับ วันนี้นั่งศึกษาเกี่ยวกับการทำ Arbitrage เพราะไปงานสัมนางานหนึ่ง ซึ่งพิธีกรได้พูดเกี่ยวกับการทำ Arbitrage ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการทำกำไรโดย"ไม่มี" ความเสี่ยง (เห็นเขาพูดไว้อย่างนั้นนะครับ) ทำกันอย่างไร มีคนอธิบายไว้ดีมากเลยครับ

การทำกำไรโดยวิธีการทำ Arbitrage หุ้น

การทำกำไรสำหรับนักลงทุนระยะยาว โดยไม่มีความเสี่ยงต่อการถือหุ้นนั้น เราสามารถใช้เทคนิคการ Arbitrage ซึ่งเป็นการหาผลตอบแทนเทียบกันระหว่าง 2 หลักทรัพย์ โดยมีวิธีการคือเราจะเปลี่ยนไปถือหลักทรัพย์ที่มีส่วนต่างของกำไรที่สูงกว่า โดยไม่มีความเสี่ยงในเรื่องของราคาเข้ามากระทบแต่อย่างไร หรือไม่มีความเสี่ยงจากการแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ครับ


ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว เอาตัวอย่างของจริงมาดูกัน วันนี้วันที่ 4 ตุลาคม 2549 มีเหตุการณ์ของหุ้นตัวหนึ่งที่ทำให้สามารถทำ Arbitrage ระหว่างหลักทรัพย์ Warrant คือหุ้นลูก และหุ้นแม่ที่ใช้อ้างอิง

ขอใช้เป็นระหัสนะครับ คือหุ้นสารพัดช่าง หรือหุ้นช้างครับ

ตัวลูกสามารถแปลงสภาพได้ในราคา 4.50 บาทต่อหุ้น แปลงได้ทุกไตรมาส หมดเขตแปลง มี.ค. 50 ซึ่งหมายความว่า เราอาจใช้สิทธิแปลงสภาพทีละไตรมาส โดยแปลงหุ้นลูกเป็นหุ้นแม่ โดยมีระยะเวลาแปลงสภาพเหลืออยู่อีกประมาณ 6 เดือน ตัวลูกช่วงเช้าอยู่ที่ 3.70 - 3.72 แต่ตัวแม่อยู่ที่ 8.55

ถ้าเราต้องการถือหุ้นแม่ในระยะยาว โดยไม่ต้องการขายในระยะสั้น เราสามารถทำ Arbitrage หุ้นได้ทันที โดยใช้วิธีการคือ

เอาตัวลูกแปลงเป็นตัวแม่ได้ 3.72 + 4.5 บาท ได้ราคา 8.22 บาทต่อหุ้น ราคาหุ้นแม่อยู่ที่ 8.55 บาทต่อหุ้น ใครมีหุ้นสารพัดช่าง ขายตัวแม่ทิ้ง แล้วซื้อตัวลูกไปแปลงสภาพ ได้กำไรส่วนต่างเห็น ๆ 8.55 - 8.22 บาทต่อหุ้น หรือเท่ากับ 0.33 สตางค์ต่อหุ้น โดยไม่มีความเสี่ยงในการถือหุ้นแต่อย่างไร เพราะหุ้นลูกแปลงเป็นหุ้นแม่ได้ทุกไตรมาสอยู่แล้ว ใครถือยาวและเป็นนักลงทุนที่มีเหตุผล จึงต้อง Atbitage ครับกำไรเห็น ๆ ทันที ลดต้นทุนหุ้นแม่ไป 0.33 ต่อหุ้น

แต่ช่วงที่เขียนต่อมาราคาปิดตลาดวันนี้ ราคาหุ้นแม่อยู่ที่ 9.05 บาทต่อหุ้น และหุ้นลูกอยู่ที่ 4.16 บาทต่อหุ้น หุ้นลูกแปลงเป็นหุ้นแม่ได้ในราคารวมเท่ากับ 8.66 บาท ตอนนี้ราคายิ่งน่าสนใจยิ่งขึ้น เพราะ ราคาแปลงสภาพจะถูกกว่าหุ้นแม่ 9.05 - 8.66 บาทหรือเท่ากับ 0.39 บาท คิดเป็นกำไรส่วนต่าง 4.30% เทียบกับราคาหุ้นแม่ครับ แบบนี้ถือลูกแปลงแม่ดีกว่าครับ


อันนี้เป็นเทคนิคที่อาจารย์ใหญ่ ดร.นิเวศน์เคยบอกไว้ในหนังสือผมอ่านมานานแล้ว จำไม่ได้ว่าเล่มไหนนะครับ เพราะอาจารย์แต่งหลายเล่มเหลือเกินครับ วันนี้เห็นของจริงเลยครับ เลยได้ทำ Arbitrage แล้วได้ค่าขนมไปเรียบร้อยแล้ว แถมวันนี้หุ้นลูกขึ้นแรงกว่าหุ้นแม่เสียอีกครับ อิ อิ ใครไม่อยากแลกหุ้นแม่ ก็หาโอกาสทำกำไร 2 ชั้น ได้กำไรทั้งหุ้นแม่ และกำไรหุ้นลูก 2 เด้งเลยครับ หรือถ้าคิดว่าเป็นหุ้นที่ดี เราก็อาจจะลงทุนระยะยาวต่อไป แถมเราก็สามารถประหยัดต้นทุนได้ตามที่อธิบายไว้ครับ อิ อิ

ขอบคุณ ขอบคุณคุณ Bul และคุณเปิล ด้วยนะครับ 

Posted by : SiTh LoRd P@cK

ปิดท้ายด้วย Blog ของคุณลุงแมวน้ำครับ 


และประโยคสรุปของคุณลุง แจ่มมาก ลุงบอกว่า

"หลักการในการทำไรจากราคาที่แตกต่างกันระหว่างสองตลาดหรือที่เรียกว่าอาร์บิทราจ ซึ่งปกตินักลงทุนหรือกองทุนใหญ่ๆที่ลงทุนข้ามชาติมักทำกัน ส่วนใหญ่ได้กำไรจากช่องราคาที่แตกต่างกันนิดหน่อยแต่เน้นที่ใช้ปริมาณสัญญาจำนวนมาก หมายถึงว่าหนึ่งสัญญากำไรนิดเดียวถือสัญญาเพียงระยะสั้น ไม่ถือนาน แต่ใช้ซื้อขายสัญญาจำนวนมากจึงทำให้ได้กำไรมาก แต่นักลงทุนรายย่อยมักทำไม่ได้เพราะส่วนใหญ่เล่นตลาดเดียว อีกประการหนึ่งก็คือไม่ได้มีทุนมากจนสามารถซื้อขายสัญญาจำนวนมากได้

การทำอาร์บิทราจในสมัยนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนักลงทุนหรือกองทุนต่างก็จ้องหาตลาดและโอกาสที่จะทำอาร์บิทราจอยู่ ดังนั้นพอราคาเริ่มมีช่องนักลงทุนก็จะแห่กันเข้ามาทำอาร์บิทราจจนช่องราคาถูกปิดไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นผู้ที่ทำอาร์บิทราจจึงไม่มีใครถือสัญญานานๆ เพราะช่องจะแคบลงและปิดไปอย่างรวดเร็ว ได้นิดหน่อยก็รีบออกกันแล้ว"



วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2556

+++ แนวคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวร

แนวคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
  • ผลตอบแทนทบต้นทำได้ 15% ต่อปีก็ถือว่าเยี่ยมแล้ว อย่าไปตั้งเป้ารวยเร็ว 
  • ตั้งเป้าเกินตัว บัฟเฟตต์ได้ปีละ 20 กว่า% แต่เป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก 
  • บางคนตั้งเป้ารวยเร็วเช่น ปีละ 100% แบบนี้อันตราย


การซื้อขายหุ้น 2 แบบ
   1.Value Investor ซื้อหุ้นเหมือนซื้อธุรกิจ รวยตามธุรกิจที่เติบโต พบคนล้มเหลวน้อยกว่า
   2. Stock Trader ใช้ข้อมูลพื้นฐานมาเก็งกำไร พบคนล้มเหลวที่ลงทุนด้วยวิธีนี้มากกว่า

     ดร.นิเวศน์ ซื้อหุ้นเหมือนซื้อธุรกิจ เช่น มาม่า คนกินเป็น 10 ปี เปลี่ยนแปลงยาก  สามารถปรับราคาได้ เสริมสุข ตอนนั้น market cap 2000 ล้าน เงินสด 500 ล้าน ยอดขาย 15000 ล้าน กำไร 500 ล้าน คิดว่า 3 ปีก็คืนทุน ราคาถูกมากๆ Intrinsic Value มูลค่าที่จริง ดร.นิเวศน์ให้นิยามว่า “มูลค่าที่เราห้ามขาย”  ปัจจุบัน สไตล์เล่นหุ้นของคนส่วนใหญ่ จะเน้นการ ขุดหุ้น คล้ายๆ ไปหาหอยที่ดอนหอยหลอด คือ พอกำไรก็ขาย ไปขุดหุ้นตัวใหม่ จนปัจจุบันหาหุ้นที่จะขุดยากขึ้น เหมือนดอนหอยหลอด ก็ไม่ค่อยจะมีหอยแล้ว เกรแฮม เลือกหุ้นคุณภาพไม่ต้องดีมาก ขอให้ราคาถูกมากๆ บัฟเฟตต์เลือกหุ้นคุณภาพดีมาก ยอมจ่ายในราคายุติธรรม 

ลักษณะของกิจการที่มีคุณภาพ

1.กำไรสม่ำเสมอ เพิ่มขึ้นช้าๆ มานาน (เพิ่มเร็วต้องระวัง)
2.หนี้น้อย
3.Net profit margin สูง ROE สูง
4. ผู้บริหารโปร่งใส ไม่โกง ไม่เอาเปรียบ
5.ผู้บริหารไม่ขยายงานมั่วไปหมด
6.มองประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกคนเป็นหลัก

ยุคปัจจุบัน Brand ลดความสำคัญลงมาก สิ่งที่สำคัญมากขึ้นคือ เรื่อง ความสะดวกสบาย ยกเว้น brand แฟชั่น เช่น หลุยส์ วิตอง ยังคงมีสำคัญคุณภาพของธุรกิจแต่ละประเภท

1. ธุรกิจที่มี brand แข็งแกร่ง ขึ้นราคาได้ ไม่มีสินค้าทดแทน เป็นผู้นำตลาด
2. ธุรกิจสัมปทาน ที่ดีควรจะจ่ายสัมปทานน้อย มีคู่แข่งน้อย ไม่ถูกควบคุมราคา มีกำไรดี
3. สถาบันการเงิน แบงค์ดี เงินทุนไม่ดี หลักทรัพย์ไม่ดี
4. สื่อสาร มือถือดี โทรศัพท์พื้นฐานไม่ดี ทีวีดี
5. สาธารณูปโภค ไฟฟ้าดี น้ำดี ทางด่วนไม่ดี (ลงทุนเยอะ ปริมาณรถเริ่มอิ่มตัว)
6. ธุรกิจมีจุดเด่น มีเทคโนโลยีเหนือคู่แข่ง มีความสามารถในการผลิตสูง
7.ธุรกิจโภคภัณฑ์ เป็นบริษัทส่วนใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ ผลการดำเนินงานไม่สม่ำเสมอ  ไม่เด่น ลูกค้าไม่ยิดติดยี่ห้อ ไม่มีความแตกต่าง ราคาเป็นไปตามตลาดโลก

ข้อสังเกต
     คนที่รวยมากๆ ส่วนใหญ่จะเป็น เจ้าของธุรกิจที่ดีมากๆ และคงอยู่มานาน ดร.นิเวศน์ เวลาประเมินมูลค่ากิจการ ท่านจะดู maket cap เป็นหลัก ว่าสมศักดิ์ศรีหรือไม่ การใช้ PE ใช้กับกิจการที่ทำกำไรเติบโตต่อเนื่อง ไม่เหมาะกับหุ้นวัฎจักรที่บางครั้งกำไรลดลง ธุรกิจที่เติบโตด้วยการลงทุนหนักๆ ไม่ดี ธุรกิจที่ดีควรขยายโดยการลงทุนน้อยๆ

การลงทุนระยะยาว

   1. ต้องอาศัย การรู้กว้าง + รู้จริง มองในภาพใหญ่ คิดแบบเจ้าของธุรกิจ ขยายได้อีกมากแค่ไหน เช่น ธุรกิจขนาดช้าง แต่ตอนนี้น้ำหนักแค่ 40 kg ก็น่าลงทุน แต่ถ้าธุรกิจเป็นแมว แต่ตอนนี้น้ำหนัก 40 kg ไม่น่าลงทุน
   2. มี sense มองแนวโน้มธุรกิจ เช่นประเทศกำลังพัฒนาต้องใช้พลังงานมาก ประเทศพัฒนาแล้วเน้นความสะดวกสบาย บันเทิง ธุรกิจโรงงาน พวก OEM ลำบาก เพราะแข่งขันทั่วโลกบางครั้งการซื้อหุ้น โดยฟังจากคนรอบข้างก็มีประโยชน์ เช่น ดร.นิเวศน์เคยฟังลูกสาวแนะนำว่า google ดี Apple ดี Sumsung ดี (แต่ท่านยังไม่ได้ซื้อ) เพราะคนเหล่านั้นอยู่ในสังคมที่ได้สัมผัสจริงๆ ใช้งานจริงๆ และไม่มีส่วนได้เสียในตลาดหุ้น


คำถามที่ต้องระวัง
  1. ขายหุ้นเมื่อไหร่ คำตอบคือขายเมื่อ Over Value แล้วอะไรคือ Over Value ถ้าลงทุนตลอดชีวิต เลือกกิจการดีเยี่ยม เติบโตต่อเนื่อง ก็ไม่จำเป็นต้องขาย
  2. การใช้PEG ต้องระวัง ถ้า PE ข้อมูลผิด G ข้อมูลผิด คำนวณสุดท้ายมันก็ผิดหมด (แต่อาจจะ work ก็ได้เพราะทุกคนก็ใช้เหมือนกัน)
  3. PE อาจจะไม่มีความหมายมากนัก ให้ดูที่ คุณภาพกิจการ + growth ในระยะยาว
  4. ตัวเลขต่างๆไม่ต้องดูมาก เน้นที่การแข่งขันใครจะชนะ ใครแข็งแกร่งกว่ากัน
  5. การลงทุน perception สำคัญที่สุด ดร.นิเวศน์ดู maket cap มากที่สุดในการประเมินมูลค่าหุ้น


ความเข้าใจผิดของคนที่ไม่ได้ลงทุนแบบวีไอ
  1. นักลงทนขาใหญ่ มืออาชีพ นักลงทุนสถาบัน ย่อมเก่งกว่านักลงทุนสมัครเล่น >> ไม่จริง เพราะขึ้นกับผลประกอบการบริษัท
  2. การลงทุนต้องมีเวลาตามหุ้นมากๆ มีความรู้ในการวิเคราะห์สูง มีเงินมากพอ
  3. การลงทุนในหุ้น เป็นเรื่องของการเก็งกำไร คนชอบเสี่ยง ได้เสียเร็ว ถ้าไม่อยากหมดตัวอย่าซื้อหุ้น
  4. เล่นหุ้นระยะยาว มีความเสี่ยงสูง การเล่นหุ้นต้องไว เข้าเร็วออกเร็ว


คำถามหลังอบรม
  1. ราคาที่เหมาะสม ตาม ทฤษฎีตลาดมีประสิทธิภาพ Efficient market 
  2. ดร.นิเวศน์ บอกว่า อย่าไปประเมินราคาตลาดต่ำไป แล้วเชื่อมั่นราคาที่เราประเมินมูลค่าหุ้นด้วยตัวเราเองมากเกินไป เพราะราคาตลาดที่ปรากฏเป็นราคาที่ทุกคนในตลาดให้ราคา ณ ขณะนั้นดร.นิเวศน์ เปลี่ยนจาก CPN มาเข้า BigC เพราะช่วงนั้น bigC จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซื้อคาร์ฟู โดยที่ไม่เพิ่มทุน หาเงินกู้ได้ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายผู้บริหาร(คาร์ฟูเดิม) ลดค่าโฆษณาซึ่งน่าสนใจมาก
  3. เปรียบเทียบตอนดัชนี 1700 และ 1300 ในตอนนี้ สิ่งที่เหมือนกันคือ หุ้น IPO เยอะและวิ่งแรง 2. มีการเทคโอเวอร์มาก สัญญาณส่งออกชะลอตัว แต่สิ่งที่แตกต่างคือ หนี้บริษัทจดทะเบียนตอนนี้น้อยกว่าตอนนั้นมาก และนักลงทุนมีหลายกลุ่มเพิ่มขึ้น มีความรู้เพิ่มขึ้น (ดร.สรุปในบทความล่าสุด เดจาวู) ช่วงนี้ตลาดหุ้นขึ้นมาเยอะ ดร.ท่านยังไม่ได้ทำอะไรกับพอร์ต แต่หาโอกาสลงทุนต่างประเทศในกิจการคุณภาพดีๆ ยังไม่แพง
  4. เปรียบเทียบเมื่อก่อนกับตอนนี้ ดร.นิเวศน์ต้องใช้เวลาวิเคราะห์หุ้นเพิ่มขึ้น น้อยลงหรือไม่อย่างไร … ท่านบอกว่า ท่านก็ทำเหมือนเมื่อก่อน ปกติไม่วิเคราะห์มาก แต่เน้นสังเกตในการใช้ชีวิตประจำวัน สังเกตการณ์เปลี่ยนแปลง แล้วคิดเปรียบเทียบเป็นมุมมองของการแข่งขัน ใครจะชนะ/แพ้

ขอบคุณแหล่งที่มา : http://thaistockinvestor.com