แหล่งที่มาของข้อมูลทั้งหมด http://nakkanaayok.blogspot.com/2012/11/7-2012.html
Derivatives Warrant (DW) มีข้อแตกต่างจาก Warrant ทั่วไปที่วิ่งไฉไลอยู่ในตลาดหุ้นอยู่ 3 ประการครับ 1. DW ถูกออกโดยบริษัทหลักทรัพย์.. ในขณะที่ Warrant ถูกออกโดยบริษัทเจ้าของหุ้นนั้นๆ 2. DW มีทั้งแบบ put และ call ให้เลือกสอย.. ส่วน Warrant มีแต่ call อย่างเดียวให้เลือกสรร และ 3. DW ชำระเพียงเงินสดส่วนต่าง ณ วันส่งมอบ.. ในขณะที่ Warrant ณ วันส่งมอบ ต้องชำระทั้งเงินสดและส่งมอบหุ้นจริง.. ฮึ่มๆ
เอาละทีนี้จะเข้าเนื้อละนะครับ.. มาดูกันว่า 9 อรหันต์ที่เหล่ากูรูเค้าใช้ดูใช้คิดเพื่อพิชิตใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) มีอะไรบ้าง.. ยากหน่อยนะ.. พร้อม.. 3 2 1 ไป!
1) Effective Gearing (อัตราทดจริง) หมายถึง ค่าที่บอกเป็นนัยว่าราคา DW จะเปลี่ยนไปกี่ % เมื่อราคาหุ้นอ้างอิงเปลี่ยนแปลง 1% เช่น ถ้า Effective Gearing ของ DW เท่ากับ 2.6 เท่า หมายความว่า ถ้าหุ้นอ้างอิงขึ้น 1% DW จะขึ้น 2.6% นะ.. (หมายเหตุ: โดยทั่วไป Out-of -the-Money DW จะมีค่า Effective Gearing สูงกว่า In-the-Money DW ครับ.. ดังนั้นหากใครใจเปรี้ยว ชอบเสียว.. ก็ลอง DW แบบ OTM ได้.. แต่อย่าลืม High Return ก็ High Risk นะจ๊ะ)
2) 1-Day Time Decay (การเสื่อมค่าตามเวลา) หมายถึง ค่าที่บ่งชี้ว่าราคา DW จะลดลงกี่บาทเมื่อเวลาผ่านไป 1 วัน หากราคาหุ้นอ้างอิงไม่เปลี่ยนแปลง.. เช่น 1-Day Time Decay ของ DW เท่ากับ -0.05 หมายความว่า ถ้าราคาเจ้าหุ้นอ้างอิงราคาอยู่นิ่ง 1 วัน.. ราคาของ DW จะลดลง 0.05 บาท.. คืองี้ครับ ค่านี้ถ้ายิ่งมาก.. ต้องยิ่งเล่นสั้น.. เพราะราคาของ DW จะยิ่งลงเร็ว (หมายเหตุ: ยิ่งใกล้วันหมดอายุเท่าใด ผลของ 1-Day Time Decay จะยิ่งมีนัยมากขึ้น.. เนื่องจาก Time Value ของ DW จะลดลงอย่างรวดเร็วมาก.. หากราคาหุ้นอ้างอิงอยู่คงที่)
3) Implied Volatility (ค่าความผันผวนแฝง) หมายถึง ค่าที่บอกถึงความถูกแพงของ DW โดยเปรียบเทียบกับ DW ที่มีหุ้นอ้างอิงเดียวกัน.. แต่มีวันหมดอายุ, ราคาใช้สิทธิ, และอัตราใช้สิทธิต่างกัน.. สรุปง่ายๆคือ DW ไหนมี Implied Volatility ต่ำกว่า.. ตัวนั้นก็ถูกกว่า.. จบป้ะ? (หมายเหตุ: ตรงนี้ตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าบริษัทหลักทรัพย์ที่ออก DW ที่นำมาเปรียบเทียบกัน มี Credit Rating เท่ากัน.. หากไม่เท่า ผู้ออกที่มี Credit Rating ต่ำกว่าก็ควรขาย DW ที่ราคาถูกกว่า เพราะมี Default Risk สูงกว่า.. ซึ่ง! ทาง TRIS Rating ก็เพิ่งปรับเพิ่มอันดับเครดิตหลักทรัพย์บัวหลวงจาก A-/Positive เป็น AA-/Stable เมื่อเร็วๆนี้เองครับ.. โฮะๆๆ)
*ข้อ 4-6 นักค้าขอ assume อัตราการใช้สิทธิต่อ 1 หุ้นอ้างอิง (Conversion ratio) เท่ากับ 1 DW ต่อ 1 หุ้น*
4) All-in-Premium หมายถึง ค่าที่บ่งชี้ว่าราคาหุ้นต้องเปลี่ยนไปกี่ % จึงทำให้การลงทุนใน DW คุ้มทุน หากถือจนหมดอายุ.. ค่านี้ยิ่งต่ำยิ่งดีครับ.. แต่ต้องใช้เปรียบเทียบบนสินค้าอ้างอิงตัวเดียวกันและอายุคงเหลือใกล้เคียงกันนะ ตัวอย่างเช่น ค่า All-in-Premium เท่ากับ 40% หมายถึง ราคาหุ้นอ้างอิงต้องขึ้นถึง 40% (โอ้วว) การลงทุนใน DW ถึงจะคุ้มทุน
5) Break-even point หมายถึง ค่าที่บ่งบอกว่าราคาหุ้นอ้างอิงต้องวิ่งไปปิดที่กี่บาท จึงทำให้การลงทุนใน DW คุ้มทุน หากถือจนหมดอายุ เช่น Break-even point เท่ากับ 100 หมายถึง หุ้นอ้างอิงต้องปิดที่ 100 บาทในวันซื้อขายสุดท้ายของ DW จึงจะทำให้ DW ที่ลงทุนไปคุ้มทุนนะ.. แต่เอาเข้าจริงนักค้าว่าค่านี้แค่รู้ไว้ใช่ว่าเฉยๆครับ เพราะส่วนใหญ่นักลงทุนไม่ค่อยถือ DW ไปจนถึงวันหมดอายุอยู่แล้ว
6) Doubling Factor หมายถึง ค่าที่บ่งชี้ว่าราคาหุ้นอ้างอิงต้องวิ่งไปกี่ % จึงจะทำให้ราคาของ DW ขึ้นได้ถึง 100% (กระต๊าก!) หากถือจนหมดอายุ ตัวอย่างเช่น Doubling Factor เท่ากับ 33% หมายถึง ราคาหุ้นอ้างอิงต้องขึ้นไป 33% ราคาของ DW ถึงจะขึ้นได้ 100% นะ.. แหะๆ
7) %Share Outstanding (รายงานการถือครอง DW โดยนักลงทุน).. ค่านี้ตลาดหลักทรัพย์จัดให้ทุกสิ้นเดือนครับ.. ดูได้ที่ลิ้งค์นี้ http://www.set.or.th/set/dwoutstanding.do?country=th&language=TH โดยนักค้าแนะนำให้เลือก DW ที่ค่านี้ไม่สูงจนเกินไปนัก
8) Indicative Price หมายถึง ราคารับซื้อ DW คืนโดย Market Maker (เฉพาะ DW01) โดยนักลงทุนควรเลือก DW ที่มี Indicative Price และราคาซื้อขายในกระดานปัจจุบันไม่แตกต่างกันมากครับ
9) Market Maker Behavior หมายถึง พฤติกรรมของผู้ดูแลสภาพคล่อง.. อันนี้จี๊ดนะ.. เพราะเพื่อนๆต้องคอยสังเกตกันเองว่า Market Maker เจ้าไหนดูแล DW ของตนเองดี.. ซึ่งสังเกตง่ายๆได้จาก เช่น ช่วง Bid-Ask Spread ไม่ห่างกันมากนัก, การเคลื่อนไหวของ DW สอดคล้องกับหุ้นอ้างอิงอยู่เสมอ, และที่สำคัญต้องมีสภาพคล่องสูง (จะได้ซื้อขายง่าย) หรือลองดูที่ลิ้งค์นี้เป็นข้อมูลประกอบก็ได้ครับ http://www.set.or.th/set/mmperformance.do?country=TH&language=th
เอาละ.. เขียนเสร็จนักค้าก็ปาดเหงื่อแฮ่กๆ.. มันยากส์! ที่จะรู้จะเข้าใจหมด.. เข้าใจ! แต่มันจำเป็น! หากท่านจะลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิ์อนุพันธ์ (DW) อย่างปลอดภัย ไม่เป็นเหงื่อของรายใหญ่รายโต.. ซึ่งหากท่านใดอ่านจบแล้วยังงงหรือสงสัยอะไรเพิ่มเติม เวปไซต์นี้ http://www.blswarrant.com/ มีข้อมูลน่าสนใจให้ทุกท่านเข้าไปต่อยอดอ่านกันให้หนำใจครับ.. Fight!
Posted by Nakka Naayok at 9:02 PM